ภาวะความรู้คิดบกพร่องในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะความรู้คิดบกพร่องในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนอกจากอาการอ่อนแรงแขน ขา ของร่างกายแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือ ภาวะความรู้คิดที่บกพร่องไป หลังจากที่สมองได้รับความเสียหาย ซึ่งการทำงานของสมองส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาใกล้เคียงปกติ
ความรู้คิดของสมองหรือการทำงานขั้นสูงของสมอง(cognitive function) มีหลายด้าน ได้แก่ ด้านภาษา, ด้านความจำ, ด้านการรับรู้ระยะและทิศทาง, ด้านสมาธิ, ด้านการตัดสินใจและการแก้ปัญหา, ด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมและอารมณ์
การที่ความสามารถในการรู้คิดของสมองลดลง (cognitive impairment ) เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะในช่วงปีแรกหลังจากป่วย โดยอาจมีปัญหาแค่ด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจจะหลายด้านรวมกัน เช่น
- ด้านภาษา ทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่น ผู้ป่วยอาจไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด หรือ ผู้ป่วยอาจพูดไม่เป็นคำ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ด้านความจำ ทำให้ไม่สามารถจดจำสิ่งใหม่ๆได้ เช่น ลืมสิ่งที่เพิ่งคุยกัน ลืมท่าออกกำลังกายที่ให้ไป
- ด้านการรับรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น การละเลยร่างกายซีกซ้าย หรือ การรับรู้เรื่องวันเวลา สถานที่
- ด้านสมาธิ ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจ่ออยู่ที่สิ่งๆหนึ่งได้หรือทำได้ไม่นาน
- ด้านการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การวางแผนเป็นขั้นตอน จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ซึ่งการรู้คิดที่ลดลงของสมองนี้เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยลดน้อยลง ดังนั้นนอกจากการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูด้านร่างกาย เช่น กำลังกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว การทรงตัวแล้ว ต้องมีการฝึกสมองเพื่อฟื้นฟูการรู้คิดของสมองเพิ่มเติมด้วย เช่น
- ต้องการเพิ่มด้านการรับรู้ต่างๆ อาจให้ฟังแล้วทำตาม พร้อมกับออกเสียงไปด้วย
- ต้องการฝึกด้านสมาธิ อาจให้พูดชุดตัวเลขตาม เมื่อทำได้ดีแล้วค่อยเพิ่มหลักของตัวเลข
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่ใช้ในการฝึกก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย ดังนั้นหากญาติและนักกายภาพบำบัดเข้าใจถึงปัญหาของผู้ป่วย รวมถึงวิธีการจัดการดูแลและรักษา ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วย สามารถมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
บทความโดย..
กภ.อุดมพร ป้องเกียรติชัย (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบประสาท สาขาเพชรเกษม
ภาพประกอบโดย..
กภ.สุธีรา อนงค์ถวิล (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกกล้ามเนื้อ สาขาอุดมสุข
- สุกัญญา ทวีมนูญ. การฟื้นฟูด้านการกำหนดรู้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทางจิตวิทยา. จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2555 พ.ย. - ธ.ค.; 56(6): 647 - 57
- Noor Kamal Al-Qazzaz, Sawal Hamid Ali,1 Siti Anom Ahmad,2 Shabiul Islam,3 and Khairiyah Mohamad. Cognitive impairment and memory dysfunction after a stroke diagnosis: a post-stroke memory assessment. Neuropsychiatr Dis Treat. 2014; 10: 1677–1691. Published online 2014 Sep 9.