"จะเลือกไม้เท้าอย่างไรให้เหมาะสม"

"จะเลือกไม้เท้าอย่างไรให้เหมาะสม"

 

เราจะเลือกซื้อไม้เท้าอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งานในผู้สูงอายุ ในปัจจุบันไม้เท้าที่มีขายกันโดยทั่วไปตามท้องตลาดนั้น มีมากมายหลากหลายรูปแบบมาก มีทั้งที่เป็นขาเดียว สี่ขา โดยเราจะต้องทราบถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละประเภทก่อนจึงจะนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง


  • ไม้เท้าขาเดียว

ไม้เท้าแบบนี้ จะสามารถพกพาได้ง่าย ถือได้สะดวก น้ำหนักเบา มีให้เลือกหลายรูปแบบเช่นทำออกมาเป็นร่มทำให้ดูไม่เป็นการถือไม้เท้าชัดเจนเกินไป ไม้เท้าแบบนี้จะช่วยป้องกันการหกล้มจากการเดินเซได้ ช่วยประคองตอนเดินได้เล็กน้อย 

✔เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ที่ยังเดินได้เอง มีความมั่นคงในการเดินระดับหนึ่ง แต่ไม้เท้าแบบนี้ ส่วนใหญ่จะไม่สามารถวางตั้งได้


  • ไม้เท้า 3 ขา หรือ 4 ขา

ไม้เท้าแบบนี้จะมีขาตรงปลายออกมาอีก 3 หรือ 4 ขา เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการเดิน

✔เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่อ่อนแรงครึ่งซีก และผู้สูงอายุที่เดินไม่มั่นคง เซง่าย ล้มบ่อย ไม้เท้าแบบนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าแบบขาเดียว แต่สามารถวางตั้งได้ทำให้สะดวกในการใช้งาน


  • อุปกรณ์ช่วยเดิน walker

ปัจจุบันมีทั้งแบบธรรมดา, พับได้และมีล้อ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งาน ข้อเสียของวอร์คเกอร์คือมีขนาดใหญ่ และค่อนข้างมีน้ำหนักมากกว่าไม้เท้าแบบอื่น ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานแบบพกพาไปข้างนอกเท่าไหร่

✔เหมาะสำหรับ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่บกพร่องทางการเดิน การเดินไม่มั่นคงหรือสูญเสียการทรงตัว ที่สามารถใช้แขนจับได้ทั้งสองข้าง ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับคนไข้หลอดเลือดสมองที่อ่อนแรงครึ่งซีก หรือผู้ป่วยที่อ่อนแรงแขนข้างใดข้างหนึ่ง 


  • วิธีการปรับไม้เท้าให้พอดีกับเรา

ควรปรับไม้เท้าให้สูงพอดีกับความสูงของแต่ละบุคคล โดยวิธีวัดง่ายๆคือให้ยืนตรง แขนแนบลำตัว วัดความสูงของที่จับไม้เท้าอยู่ตรงกับตำแหน่งปุ่มกระดูก(ulnar styloid process) ด้านข้างของข้อมือพอดี ทำให้เมื่อผู้ใช้งานจับไม้เท้าศอกจะงอเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ออกแรงกดไม้เท้าได้ง่าย เพราะหากไม้เท้าเตี้ยเกินไป จะทำให้ต้องก้มตัวขณะเดินซึ่งอาจจะทำให้ปวดหลังได้ หรือหากไม้เท้าที่สูงเกินไป ก็จะส่งผลให้ไหล่ยกจนอาจจะปวดไหล่ได้เช่นกัน 


ซึ่งสามารถรับคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัดเพื่อปรับไม้เท้าให้เหมาะสมแก่ท่านผู้ใช้ได้ค่ะ❤


บทความโดย..

กภ.มนทิรา กุสุมาวลี (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัด ระบบประสาท สาขาสิรินธร

ภาพประกอบโดย..

กภ. พิชญาดา สุวรรณดี (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขามีนบุรี



แหล่งอ้างอิง

(2011). Instruction for care and use of a cane. Retrieved Aprill 28, 2024, from https://www.redcross.ca/crc/documents/How-We-Help/Community-Health-Services-in-Canada/Instructions-for-care-and-use-of-a-cane_1.pdf