กระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคด


เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังมีการหมุน เบนออกจากแนวกลาง และมีองศาการเอียงวัดจากภาพถ่าย x-ray ตั้งแต่ 10 องศาเป็นต้นไป โดยร้อยละ 80 ของภาวะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน ภาวะนี้จะมีการเพิ่มขึ้นขององศาการคดของกระดูกสันหลังไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงวัยที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโต 


โดยปัจจัยที่มีผลทำให้องศาการคดของกระดูกสันหลังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มมากขึ้นมีดังนี้

▫️รูปแบบการคดของกระดูกสันหลัง (curve pattern) : กระดูกสันหลังคดแบบที่กระดูกสันหลังระดับอก และระดับเอวมีองศาการคดพอ ๆ กัน (double major curve) และกระดูกสันหลังคดแบบที่กระดูกสันหลังระดับเอวมีองศาการคดที่มาก (lumbar curve)

▫️อายุ : ยิ่งมีการเริ่มต้นของภาวะกระดูกสันหลังคดตอนอายุน้อย ยิ่งมีความเสี่ยงที่องศาการคดจะเพิ่มขึ้นมาก

▫️การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ : ในช่วงนี้การเพิ่มขึ้นขององศาการคดจะค่อนข้างมากไปจนกระทั่ง 1 ปีหลังจากมีประจำเดือนจะเริ่มมีความเสี่ยงน้อยลง

▫️การเจริญเติบโตของกระดูก : ใช้ภาพถ่าย x-ray ในการแบ่งระดับความสมบูรณ์ของการเจริญเติบโตของกระดูกบริเวณเชิงกราน (Risser sign) และบริเวณฝ่ามือ นิ้ว ข้อมือ (Sanders stage) ยิ่งได้ระดับตัวเลขที่ต่ำ ก็จะมีความเสี่ยงมากที่องศาการคดของกระดูกสันหลังจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระดูกยังสามารถเจริญเติบโตได้อีกหลายปี

▫️เพศ : เพศหญิงมีความเสี่ยงที่องศาการคดจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเพศชาย

▫️พันธุกรรม : มีโอกาสพบหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นกระดูกสันหลังคด หรือมีโอกาสพบในฝาแฝด

▫️มุมการเอียง (Cobb angle) และมุมการบิด (ATR) : การที่มีองศา Cobb angle และ ATR ที่มาก ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่องศาการคดจะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน



บทความโดย..

กภ.ริญญรัตน์ ศักดาสันติพงศ์ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัดกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาเจริญราษฎร์ 


ภาพประกอบโดย..

กภ.ศุภกานต์ จุลละจินดา (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัดกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาสิรินธร