การใส่สายรัดพยุงหลังเป็นประจำ ช่วยแก้อาการปวดหลังได้จริงหรือ?
การใส่สายรัดพยุงหลังเป็นประจำ ช่วยแก้อาการปวดหลังได้จริงหรือ?
หลายคนเมื่อมีอาการปวดหลัง ก็มักจะพยายามหาวิธีต่างๆเพื่อลดอาการปวดที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็อาจจะเลือกใช้ สายรัดพยุงหลัง (Back Support หรือ L-S Support) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่าย และเมื่อสวมใส่เเล้วมักทำให้รู้สึกปวดลดลง จึงเลือกที่จะใส่ไว้ตลอดเวลา ทั้งในขณะทำงาน และทำกิจวัตรประจำวัน เพราะเชื่อว่าที่รัดพยุงหลังนี้จะช่วยป้องกันอาการปวดได้ จนผู้สวมใส่เริ่มรู้สึกคุ้นชิน หากวันใดไม่ได้ใส่ก็จะกลัวเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายหลัง
วันนี้เราจึงอยากมาเล่าถึงทั้งประโยชน์ และข้อควรระวังในการใช้สายรัดพยุงหลังนี้ เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและสามารถใช้งานสายรัดพยุงหลังได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกันนะคะ
คำถามเเรกที่ทุกคนมักสงสัยคือ เมื่อไรที่เราควรใช้สายหลังพยุงหลังกันเเน่นะ? คำตอบคือ เราควรใส่เมื่อมีอาการปวดหลังมากในช่วงเเรกของการเกิดอาการ เนื่องจากในช่วงเเรกมักมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น สายรัดพยุงหลังนั้น จะช่วยลดปวดและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมได้
โดยหลักการลดปวดและลดการบาดเจ็บของสายรัดพยุงหลังนั้น สามารถแบ่งได้ 5 ข้อ ดังนี้
1) ช่วยเพิ่มแรงดันในช่องท้องทำให้ลดแรงกระทำต่อหมอนรองกระดูกสันหลัง
2) ช่วยจัดแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวปกติ
3) ช่วยลด จำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง
4) ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
5) ผลทางด้านจิตใจ ทำให้รู้สึกมั่นใจในการเคลื่อนไหว
โดยเราจะใส่สายรัดพยุงหลังเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เมื่อมีการลุก ยืน เดิน ยกของ และควรถอดออกทุกครั้งเมื่อพักหรือนอน
ไม่ควรใส่ที่รัดหลังไว้ตลอดเวลา เนื่องจากอาจส่งผลในเสียระยะยาวได้ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณช่วงลำตัวอ่อนเเอลงส่งผลให้บาดเจ็บหลังได้ง่ายขึ้น ติดการใส่ที่รัดหลังตลอดเวลา และกลัวการเคลื่อนไหวได้
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง เรายังคงเเนะนำให้ทุกท่านปฎิบัติตนตามหลักในการดูเเลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการปวด ได้เเก่ การลดอักเสบด้วยการใช้เเผ่นประคบเย็น, ไม่หักโหมในการใช้ร่างกาย, ยืดเหยียดเบาๆ, เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ไม่รู้สึกปวด, ปรับพฤติกรรมการใช้งานในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง และเริ่มลดการใช้ที่รัดหลังลง โดยกลับมาออกกำลังกายเพิ่มเมื่ออาการดีขึ้น
ทั้งนี้ถ้าอาการปวดมีมากและยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อค้นหาสาเหตุที่เเท้จริงของอาการปวดหลัง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุที่เป็นนะคะ
บทความโดย..
กภ.พิทวัส แก้ววิเศษ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาประชาชื่น
ภาพประกอบโดย..
กภ.กมลวรรณ ชาญวิทย์การ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัด สาขาซีเนียร์ กันยา