'อาการปวดไหล่ กับภาวะการเคลื่อนไหวบกพร่อง'

'อาการปวดไหล่ กับภาวะการเคลื่อนไหวบกพร่อง'


“ปวดไหล่ ไหล่ติด กางแขนแล้วเจ็บ ไขว้หลังไม่ได้” สารพัดอาการบาดเจ็บข้อไหล่ ที่พบได้บ่อยในคลินิกกายภาพฯ


เนื่องจากข้อไหล่เป็นข้อต่อที่สามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ทั้งยก กาง หมุน รวมถึงเป็นข้อต่อที่มีข้อต่อย่อยที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวอีกถึง 4 ข้อต่อ จึงเป็นบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายเป็นพิเศษ


การเคลื่อนไหวแขน 1 ครั้ง ใช้การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ ขยับให้ข้อต่อทั้ง 4 เกิดการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ หากมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะน้อยไปหรือมากไป ย่อมทำให้มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ได้ โดยการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากปกตินี้เรียกว่า Movement Impairment Syndrome


โดยการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป สามารถเกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ (เช่น การตอกตะปูของช่าง การใช้งานแขนของนักกีฬาเทนนิส) หรือแม้แต่การอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานานเกินไป (เช่น การนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เป็นเหตุให้เกิดการปรับตัวของเนื้อเยื่อ (Tissue adaptation) เมื่อเนื้อเยื่อผิดปกติ ไม่ว่าจะตึงตัวหรือหย่อนตัว แข็งแรงขึ้นหรืออ่อนแรงลง จึงมีการเคลื่อนไหวผิดเพี้ยน (Movement system syndrome) นำมาสู่การบาดเจ็บของโครงสร้างบริเวณข้อไหล่

 

ตัวอย่างภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยข้อไหล่ เช่น การเคลื่อนไปด้านหน้าของกระดูกต้นแขน การเปิดออกของกระดูกสะบัก นักกายภาพบำบัดจะใช้การตรวจโดยการคลำบริเวณข้อต่อ ทั้งในท่าปกติ และในการเคลื่อนไหวยกแขนหรือกางแขน ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กับอาการปวดไหล่ได้


การรักษาทางกายภาพบำบัด นอกจากใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวด์ ในการเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการออกแบบการออกกำลังกายเฉพาะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยให้กลับมาใกล้เคียงปกติ เช่น ในผู้ป่วยที่มีมุมสะบักด้านในนูนขึ้นขณะเคลื่อนไหว นักกายภาพอาจใช้การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กระชับสะบักให้แนบกับลำตัว และฝึกการทำงานของมัดกล้ามเนื้อดังกล่าวขณะมีการเคลื่อนไหว


การบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินี้ ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการบริเวณไหล่ อาจกลับมามีอาการได้อีก ถึงแม้จะได้รับการรักษาโครงสร้างที่บาดเจ็บแล้ว หากไม่ได้รับการปรับการเคลื่อนไหวให้กลับมาเป็นปกติ


เพราะฉะนั้น หากมีอาการเจ็บไหล่ที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจประเมินความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เพราะการออกกำลังกายที่ออกแบบเฉพาะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาอาการปวดไหล่จากภาวะการเคลื่อนไหวบกพร่อง


บทความโดย..

กภ.ดุสิตา สุขเจริญ นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาประชาชื่น (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

ภาพประกอบโดย..

กภ.กมลวรรณ ชาญวิทย์การ นักกายภาพบำบัด สาขาซีเนียร์ กันยา (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

=========================

Reference 


 Christopher et al. "Shoulder Pain Prevalence by Age and within Occupational Groups: A Systematic Review." Achives of Physiotherapy, 2018.


 Amasay, Tal & II, Hall & S, Shapiro & K, Ludwig. (2016). The Relation between Scapular Dyskinesis and the Upper Quarter Y-Balance Test. International Journal of Anatomy & Applied Physiology. 2. 20-25. 10.19070/2572-7451-160003. 


 Sahrmann S, Azevedo DC, Dillen LV. Diagnosis and treatment of movement system impairment syndromes. Braz J Phys Ther. 2017 Nov-Dec;21(6):391-399. doi: 10.1016/j.bjpt.2017.08.001. Epub 2017 Sep 27. PMID: 29097026; PMCID: PMC5693453.