เเขนตึง มือชา โอ้!เธอจ๋ารีบมา รำไทย

เเขนตึง มือชา โอ้!เธอจ๋ารีบมา รำไทย สวัสดี เดือนเมษายน …. เดือนแห่งประเพณีไทย ค่า วันนี้เราจะขอหยิบยกเอาความเป็นไทย อย่างเช่น การรำไทย มานำเสนอให้ทุกคนได้ทราบกันว่า “การรำไทย” นั้นสามารถช่วยรักษาอาการบาดเจ็บจากเส้นประสาทแขนตึงรั้งได้ โดยเรามาทำความรู้จักเส้นประสาทแขนกันก่อน แขนจะประกอบด้วยเส้นประสาทหลักๆอยู่ 3 เส้นด้วยกัน ได้แก่ เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) และเส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve) การวางตัวของเส้นประสาทจะแตกแขนงจากคอ ลงมาสู่แขนและมือ ผ่านมาตามกล้ามเนื้อและผิวหนังที่เส้นประสาทไปเลี้ยง ถ้าหากมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทแขน มีการตึงรั้ง ถูกกดทับ หรือถูกยืดมากเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการต่างๆเหล่านี้ได้ - ปวด หรือล้า ที่บริเวณแขน ข้อศอกด้านในหรือด้านนอก - ปวดแปล๊บที่บริเวณข้อมือ ข้อศอก - ชาที่บริเวณฝ่ามือ หลังมือ หรือนิ้วมือ - อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน หรือกล้ามเนื้อในมือร่วมด้วย ทำให้มีการเคลื่อนไหวแขนที่ยากขึ้น จะรู้สึกตึงมากขณะขยับแขน เหยียดแขนได้ไม่สุด ดังนั้น เมื่อคุณมีอาการเหล่านี้ ควรเน้นออกกำลังกาย ท่าบริหารที่มีการขยับตัวของเส้นประสาท ให้เส้นประสาทมีการเคลื่อนไปมา เพื่อช่วยลดความตึงตัว โดยท่ารำไทยของเรานั้น เป็นท่าที่เน้นการเคลื่อนไหวของคอ แขนและมือ ช่วยให้เส้นประสาทมีความตึงตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลให้อาการปวดลดลง การรับความรู้สึกดีขึ้น ชาลดลง และกำลังกล้ามเนื้อดีขึ้น วันนี้เรามีท่าออกกำลังกายยืดเส้นประสาทแขนด้วยท่ารำไทยง่ายๆ มาฝากค่ะ 1.ท่าชะนีร่ายไม้ และท่ารำส่าย ช่วยยืดเส้นประสาทมีเดียน ของแขนข้างที่เหยียดตรง
mn45WZ.jpg
2.ท่าสอดสร้อยมาลา ช่วยยืดเส้นประสาทอัลน่า ของแขนข้างที่ตั้งวง
mn4U6u.jpg

3.ท่ารำยั่ว ช่วยยืดเส้นประสาทเรเดียล ของแขนข้างที่จีบส่งหลัง
mn4E1I.jpg โดยขณะทำท่ารำ ให้มีความรู้สึกตึงแขนเล็กน้อย ต้องไม่มีอาการชาหรือเจ็บเพิ่มขึ้น หากมีอาการชาหรือเจ็บเพิ่มขึ้น ให้หยุดพักทันที รำครั้งละประมาณ 5-10 นาที ทำได้ทุกวัน ทำติดต่อกันจะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการตึงตัวของเส้นประสาทแขนได้ค่ะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษานักกายภาพบำบัด เพื่อเข้ารับการตรวจประเมินอย่างละเอียด และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ อย่าปล่อยให้อาการเหล่านี้รบกวนชีวิตประจำวันนะคะ เรามาดูแลสุขภาพกันนะคะ อ้างอิง.. คีรินทร์ เมฆโหรา. (2552). รำไทยพิชิตปวด. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่:364. สืบค้น 15 มีนาคม 2566, จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/7900 บทความโดย.. กภ. ครองขวัญ บุญประสงค์ นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาเพชรเกษม (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม) กภ. กมลวรรณ ชาญวิทย์การ นักกายภาพบำบัด สาขาซีเนียร์ กันยา (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)