ปวดคอบ่า ชาร้าวลงแขน คุณอาจกำลังเป็น Thoracic outlet syndrome (TOS)
ปวดคอบ่า ชาร้าวลงแขน คุณอาจกำลังเป็น Thoracic outlet syndrome (TOS)
มือเย็น..แขนวูบชา ใครมีปัญหายกมือขึ้น! บทความนี้จะพาทุกท่านมาเช็คสัญญาณอาการที่บ่งบอกว่าเราเริ่มมีปัญหากับภาวะที่เรียกว่า “กลุ่มอาการเส้นเลือดและเส้นประสาทถูกบีบรัดที่ทรวงอก” หรือ “Thoracic outlet syndrome” กันค่ะ
โดยส่วนใหญ่แล้วหากภาวะนี้อยู่ในภาวะเฉียบพลันจะไม่แสดงอาการ จึงถูกเพิกเฉยและปล่อยให้โรคดำเนินไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ระยะเรื้อรังแล้วจึงแสดงอาการออกมา จนทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรง อาการที่มักพบในโรคนี้ คือ
- ปวดคอบ่าไหล่ ร่วมกับอาการปวดชาร้าวลงเเขน
- เเขน มือ นิ้ว เย็นกว่าปกติ หรืออาจพบว่าสีซีด บวม
- แขนอ่อนแรง
- คลำตรวจชีพจรที่ข้อมือเเล้วเบาลงหรือไม่พบชีพจร เมื่อเทียบกับอีกข้าง
ปกติแล้วภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบริเวณกระดูกคอและหัวไหล่ เช่น Whiplash injury, Traction injury เป็นต้น
- การใช้งานของแขนซ้ำๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดการบีบรัด (muscle hypertrophy)
- ความผิดปกติของโครงสร้างทางกายวิภาค เช่น ผู้ที่มีเนื้องอก (tumor) หรือมีความผิดปกติของกระดูกสันหลังบริเวณคอ (cervical rib) เป็นต้น
การรักษาโรคนี้จำเป็นต้องรู้สาเหตุของการกดทับ ว่าโครงสร้างใดมีการกดเบียดเส้นเลือด เส้นประสาท โดยเเพทย์และนักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจประเมินโครงสร้างต่างๆ เพื่อบ่งบอกต่ำเเหน่งของการกดทับ เเละวางแผนในการรักษาต่อไป ซึ่งการรักษามีทั้งเเบบไม่ผ่าตัดและเเบบผ่าตัด
โดยทั่วไปจะเเนะนำให้รักษาเเบบไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าอาการยังไม่รุนเเรงมาก ซึ่งการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมีหลายวิธี ได้เเก่
1) การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจประเมิน เเละวางเเผนการรักษาให้เหมาะสมกับสาเหตุเเละระยะโรคที่เป็น โดยการรักษานักกายภาพบำบัดอาจใช้เทคนิครักษาด้วยหัตถการ (Manual Technique) ต่างๆ การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อการรักษา และให้คำเเนะนำในการปรับพฤติกรรม รวมถึงการปรับสภาพเเวดล้อมให้เหมาะสมในเเต่ละบุคคล เป็นต้น
2) การออกกำลังกาย เช่น
- ฝึกการหายใจโดยใช้กระบังลมเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อคอและบ่า
- ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
- ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ
3) ปรับพฤติกรรมการทำงาน เช่น การเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ไม่อยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เเละการปรับระดับโต๊ะและเก้าอี้รวมถึงท่าทางการนั่งให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เป็นต้น
4) การรักษาโดยการใช้ยา การรับประทานยากลุ่มลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ หรือการฉีดยาโดยตรงไปยังบริเวณที่มีอาการ
กรณีที่อาการหนักกระทบกับชีวิตประจำวัน และรักษาด้วยวิธีเเบบไม่ผ่าตัดอย่างน้อย 4-6 เดือนเเล้วอาการยังไม่ตอบสนอง เเพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเเก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้เมื่อเริ่มมีอาการปวด ชาลงเเขน หรือมีความผิดปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน เเนะนำให้รีบเข้าพบเเพทย์ หรือนักกายภาพำบัดเพื่อรับการตรวจและรักษาให้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้อาการเป็นหนักขึ้นเเละป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
บทความโดย..
กภ. สิริกัลยา ดวงฤทธิ์ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาประชาชื่น
ภาพประกอบโดย..
กภ. ธนพร เติมสุวรรณศักดิ์ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาเจริญราษฎร์
เอกสารอ้างอิง
Jones MR, Prabhakar A, Viswanath O, Urits I, Green JB, Kendrick JB, et al. Thoracic outlet syndrome: a comprehensive review of pathophysiology, diagnosis, and treatment. Pain Ther. 2019;8(1):5-18.