กายภาพบำบัด กับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง อ่อนแรงครึ่งซีก (Stroke)
กายภาพบำบัด กับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง อ่อนแรงครึ่งซีก (Stroke)
บทบาทของกายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ที่มีอาการอ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก คือ การช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ตามความสามารถสูงสุดของผู้ป่วยภายหลังจากเกิดโรค
โดยนักกายภาพบำบัดจะตั้งเป้าหมายร่วมกับผู้ป่วยและญาติ ในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อประเมิน วิเคราะห์ปัญหา นำไปสู่การออกแบบการรักษาและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมถึงให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา
>> ควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่?
“ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี”
ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเป็น เวลาทอง (golden period) ที่ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกาย และเห็นผลจากการกายภาพบำบัดมากที่สุด เนื่องจากช่วงเวลานี้ระบบประสาทจะมีการฟื้นตัวได้ดีที่สุด
การฟื้นตัวตามธรรมชาติทางระบบประสาท (spontaneous recovery) จะเกิดขึ้นทันทีที่สมองได้รับการบาดเจ็บจากโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่เพื่อใช้งานทดแทนส่วนที่เสียไป (neural plasticity) และเริ่มเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ เช่น ผู้ป่วยจะพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้งานด้านที่อ่อนแรงแทน หรือปรับเปลี่ยนไปใช้ด้านตรงข้ามแทนการใช้ด้านอ่อนแรงมากขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวของระบบประสาทนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด
จากงานวิจัยพบว่าการฟื้นฟูของสมองที่บาดเจ็บจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก และจะลดลงเมื่อผ่านไปมากกว่า 6 เดือน เพราะฉะนั้นช่วง 3-6 เดือนแรกจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นตัวของสมอง ให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองมากที่สุดเท่าที่ทำได้
>> ไม่สายเกินไปที่จะเริ่ม…
ขณะเดียวกัน กรณีผู้ป่วยที่เป็นมานานมากกว่า 6 เดือน ก็สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในภาวะปกติแล้ว สมองของเรามีการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอด เช่น เราสามารถเรียนรู้ภาษาใหม่ได้ จดจำเนื้อร้องได้เวลาฟังเพลงซ้ำๆ จำทางเต้นในtiktokได้ แม้กระทั่งจำเส้นทางเวลาขับรถได้ สิ่งต่างๆรอบๆตัวเราที่เกิดขึ้นในที่ชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ สมองจะเกิดการปรับเปลี่ยน (neural plasticity) สามารถจดจำสิ่งเหล่านั้นได้โดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ถึงแม้ว่าการเกิดneural plasticity จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือน 6 เดือนแรกก็ตาม
สรุปได้ว่า การกายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่ใช่แค่การฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฝึก “สมอง” (อันน่าอัศจรรย์ใจของเรา)ให้เกิดการปรับเปลี่ยน (neural plasticity) ผ่านการฝึกใช้งานซ้ำๆ จนสมองเกิดการเรียนรู้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 3-6 เดือนแรกหลังจากเป็นหลอดเลือดสมอง เพื่อการตอบสนองและการฟื้นตัวของสมองที่เร็วที่สุด แต่หลังจาก 6 เดือนก็สามารถฝึกได้ เพียงแค่การฟื้นตัวของสมองอาจจะช้ากว่าช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น
" ขอให้บทความนี้เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองทุกท่าน ให้ไม่ย่อท้อต่อการฝึกเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ ”
บทความโดย..
กภ.สาริศา ปานปัญญา (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบประสาท สาขาประชาชื่น
ภาพประกอบโดย..
กภ.ขนิฐา ปัญจกุล (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบประสาท สาขาสิรินธร
References:
1) Adrian G. Guggisberg, Philipp J. Koch, Friedhelm C. Hummel, and Cathrin Buetefisch (2019). Brain networks and their relevance for stroke rehabilitation. Clinical Neurophysiology, July.
2) Yi Liu, Jiu-Haw Yin, Jiunn-Tay Lee, Giia-Sheun Peng, and Fu-Chi Yang (2022). Early Rehabilitation after Acute Stroke: The Golden Recovery Period. Acta Neurologica Taiwan.
3) Michael A. Dimyan and Leonardo G. Cohen (2011). Neuroplasticity in the context of motor rehabilitation after stroke. Nature Reviews Neurology, February.
4) Ali Alawieh, Jing Zhao, and Wuwei Feng (2018). Factors affecting post-stroke motor recovery: Implications on neurotherapy after brain injury. Behavioural Brain Research.
5) จารุกูล ตรีไตรลักษณะ, สุนีย์ บวรสุนทรชัย, วนาลี กล่อมใจ, จตุพร สุทธิวงษ์, ผกามาศ พิริยะประสาธน์, เบญจพร เอนกแสน, สุวีณา ค้าเจริญ, เฟื่องฟ้า ขอบคุณ, ธัญวรัตน์ จันทนชัย, ธีรยา อุปชิต (2563). ตำราการจัดการทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยทางระบบประสาท.