5 อาการบาดเจ็บยอดฮิต ของเหล่านักวิ่งผู้พิชิตมาราธอน

5 อาการบาดเจ็บยอดฮิต ของเหล่านักวิ่งผู้พิชิตมาราธอน


ในยุคปัจจุบันนี้ การวิ่ง ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการออกกำลังกายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในสังคมของเรา และนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกีฬาการแข่งขัน ที่มีการจัดสนามแข่งขันกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน 


การวิ่ง มีประโยชน์ในหลายๆด้านมากต่อร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน และมีประโยชน์ทางด้านจิตใจและอารมณ์อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการวิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มการวิ่งระยะไกล นักวิ่งมาราธอน นั้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้ โดยวันนี้ เราจะไปรู้จักกับกลุ่มอาการบาดเจ็บที่เราจะมีโอกาสพบบ่อย


1.อาการปวดเข่าลูกสะบ้า ( Runner’s Knee, Patellofemoral Pain Syndrome ) เป็นอาการที่เกิดการบาดเจ็บต่อผิวข้อกระดูกบริเวณลูกสะบ้าหรือเนื้อเยื่อรอบๆลูกสะบ้า ที่มีแรงกระทำต่อเนื่องสะสม จนเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ โดยมักจะมีอาการเมื่อวิ่ง หรือจังหวะที่ย่อเข่า เดินลงบันได จะมีอาการปวดเกิดขึ้น รอบๆลูกสะบ้า ความรุนแรงเกิดขึ้นมากน้อยต่างกันตามแต่ละบุคคล และมักจะพบว่า สาเหตุหลักๆเลย คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและขา ที่แข็งแรงไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และการวิ่ง ที่อาจจะเพิ่มระยะทางหรือเพิ่มความเร็ว เร็วเกินไป จนทำให้เกิดการบาดเจ็บได้


2.อาการปวดเข่าด้านนอก ( ITB : Iliotibial Band Syndrome ) อีกหนึ่งอาการยอดฮิต ที่มักจะพบรองลงมา คือกลุ่มอาการปวดเข่าด้านนอก ที่จะรู้จักกันดีในชื่อ ITB อาการ ITB เป็นอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเอ็นที่เกาะอยู่บริเวณปุ่มกระดูกของขาทางด้านนอก เมื่อมีการใช้งานที่ต้องมีการงอและเหยียดเข่าซ้ำๆ นานๆ โดยเฉพาะ ในนักวิ่งที่ระยะทางไกลๆ จะทำให้เกิดการเสียดสีกันของเอ็นกับปุ่มกระดูกมากขึ้น จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้ และมักจะมีอาการปวดเมื่อมีการงอเข่า ปัจจัยหลักของการบาดเจ็บเลยก็คือ การใช้งานที่มากเกินไป และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกที่ไม่แข็งแรง


3.อาการพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ( Plantar fasciitis ) หรือที่หลายๆคนรู้จัก ในโรค รองช้ำ เป็นอาการที่เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นโครงสร้างเนื้อเยื่อที่แข็งแรงมาก แต่เมื่อมีการใช้งานซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีแรงกระทำต่อพังผืดซ้ำๆเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ โดยลักษณะทั่วไปของอาการรองช้ำ มักจะมีอาการปวดในตอนเช้า จังหวะลุกเดิน ในช่วงก้าวแรกๆ อาการจะปวดแปล๊บบริเวณใต้ฝ่าเท้า และอาการจะบรรเทาลง เมื่อเดินไปเรื่อยๆ อาการรองช้ำ เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ควรได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกวิธี หากปล่อยไว้เรื้อรัง จะส่งผลให้รักษาอาการได้ยากขึ้น และอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกด้วย


4.อาการเอ็นร้อยหวายอักเสบ ( Achilles Tendinopathy ) เป็นอาการอักเสบบริเวณเอ็นร้อยหวาย ที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆนานๆ และมักจะพบในนักวิ่งที่มีการซ้อมที่เพิ่มความเร็ว เร็วเกินไป หรือเพิ่มระยะทางการฝึกซ้อมที่ไวเกินไป เมื่อมีการใช้งานที่หนักและฟื้นฟูภายหลังการฝึกซ้อมไม่ดี จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายยิ่งขึ้น ในนักวิ่งบางราย ที่มีอาการอักเสบรุนแรง จะพบอาการบวมและแดง ได้อย่างชัดเจน 


5.กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ ( Shin Sprint ) เป็นอาการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหน้าแข้งและเนื้อเยื่อรอบๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้ง ทางด้านนอกและด้านในของหน้าแข้ง โดยมีสาเหตุมาจากการซ้อมที่มากเกินไป ทำให้มีการใช้งานกล้ามเนื้อหน้าแข้งซ้ำๆ และมักจะพบร่วมกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ที่มีความแข็งแรงลดลง และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้าร่วมด้วย การเพิ่มความเร็วในการวิ่ง ที่เร็วเกินไป ก็มักจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหน้าแข้งนี้ได้

อาการบาดเจ็บยอดฮิตทั้ง 5 อาการที่กล่าวมานั้น โดยปัจจัยหลักแล้ว มักจะเกิดจากการใช้งานที่มากเกินไป ( Overuse Injury) โปรแกรมการซ้อมที่ไม่เหมาะสม การขาดการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เหมาะสมในการวิ่ง การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น และการฟื้นตัวของร่างกายได้ช้าลง


ดังนั้น เมื่อเกิดการบาดเจ็บ จากการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาแล้วนั้น อย่าปล่อยผ่านและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ลองปรึกษาผู้ที่ชำนาญการในการดูแลอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อที่จะกลับไปวิ่งและออกกำลังกายได้อย่างมีความสุข พิชิตสนามมาราธอนได้สมหวังตามความตั้งใจ 


บทความโดย..

กภ.กิตตินัฐ นวลใย (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ/กีฬา สาขามีนบุรี

ภาพประกอบโดย..

กภ. พิชญาดา สุวรรณดี (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขามีนบุรี


Reference 


1) Buist, I., Bredeweg, SW., Bessem, B., et al. (2010). Incidence and risk factors of runningrelated injuries during preparation for a 4-mile recreational running event. British Journal of Sports Medicine, 44, 598-604.


2) Kozinc, Z., Sarabon, Nejc.  (2017). Common Running Overuse Injuries and Prevention. Montenegrin Journal of Sports Science and Medicine, 6, 67-74.


3) Steffen Willwacher et al. (2022). Running-Related Biomechanical Risk Factors for Overuse Injuries in Distance Runners: A Systematic Review Considering Injury Specificity and the Potentials for Future Research. Journal of Sports Medicine, 52, 1863-1877