เปิดมุมมอง งานกายภาพบำบัด ในยุค 2020 กับ รศ.โสภา พิชัยยงค์วงศ์ดี

ปัจจุบัน ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการดำเนินชีวิตของคนเราที่มีรูปแบบเปลี่ยนไป ชีวิตความเป็นอยู่ การทำงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ KanyaTheArticle วันนี้ เลยมาชวนพูดคุยกับ รศ.โสภา พิชัยยงค์วงศ์ดี ต่อมุมมองของงานกายภาพบำบัด ในยุค 2020 นี้กัน


ตอนนี้เราก้าวเข้าสู้ปี 2020 อาจารย์มีมุมมองต่องานกายภาพบำบัดในยุคปัจจุบันอย่างไรบ้างคะ


    พี่ว่างานกายภาพบำบัดในยุคปัจจุบันนี้ สังคมได้รู้จักเรามากขึ้น เราเองก็สามารถทำงานได้กว้างขวางขึ้น บทบาทด้านการจัดการการเคลื่อนไหวที่ผิดจากปกติของคนไข้ในแต่ละระบบมีความชัดเจนขึ้นมากค่ะ 

    ในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะพบว่ามีปัญหาของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่เราจะต้องดูแล แต่ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนของสภาวะแวดล้อมความเป็นอยู่ และวิถีการดำเนินชีวิต เรื่องของ Social media ต่างๆ เข้ามามีบทบาทมาก รูปแบบปัญหาสุขภาพของทุกวัยกำลังเปลี่ยนไป ถ้าเราซูมภาพให้กว้าง เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าปัญหาการเคลื่อนไหวจะก่อเกิดขึ้นตั้งแต่ในเด็กเล็ก ซึ่งตรงนี้ ถ้าหากเราได้รู้เท่าทัน เรามีการป้องกันไว้ก่อน ปัญหาจะไม่เยอะขึ้น เด็กที่ผู้ปกครองควบคุมให้หยุดเล่น tablet หรือมือถือไม่ได้ การนั่งเล่นเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ตัวกล้ามเนื้อแกนกลางเสียสมดุลไป บางคนก็อาจจะเป็นหลังคด บางคนก็อาจจะหลังงอ บางคนก็เท้าแบน ข้อหลวม ภาวะเหล่านี้ เมื่อโตขึ้น พัฒนาการไม่เป็นไปตามปกติ ก็จะทำให้หกล้มได้ง่ายเพราะว่าร่างกายเสียสมดุลไป ถ้าหกล้มไปแล้วก็จะเกิดการบาดเจ็บตามมา ดังนั้นหากเราจะป้องกันไว้ก่อน เราต้องเข้าใจปัญหาตั้งแต่แรก ซึ่งตรงนี้ พวกเรานักกายภาพบำบัดทุกคนมีบทบาทในเรื่องของการป้องกัน ช่วยกันทำความเข้าใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ ช่วยกันสร้างสื่อ รณรงค์การตรวจร่างกาย การคัดกรองตั้งแต่ยังเด็กในเรื่องของความสมดุล ความสมมาตรของร่างกาย แล้วเราก็จะได้ให้ผู้ปกครองช่วยดูแลลูกหลาน พี่ว่าตรงนี้ เราจะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ดี

ด้วยสภาวะแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะพบว่ามีปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเราซูมภาพให้กว้าง เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าปัญหาจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในเด็กเล็ก


สิ่งที่อยากจะถามอาจารย์ก็คือ อาจารย์คิดว่าทักษะที่สำคัญสำหรับนักกายภาพบำบัดในยุคปัจจุบันคืออะไรคะ

ทักษะสำคัญที่สุดที่พี่คิดว่านักกายภาพบำบัดควรจะต้องมีก็คือ ทักษะการฟังและความเข้าใจ คือนักกายภาพบำบัดไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่จบมานานแล้ว หรือเพิ่งจบมาใหม่ๆ ต้องพัฒนาเรื่องของการฟัง การเก็บข้อมูลจากคนไข้ด้วยความเข้าใจ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการที่เราจะเข้าใจถึงปัญหาของคนไข้ได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องเข้าใจธรรมชาติของความไม่สบาย ของความเจ็บปวด ว่าก่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ ไม่ได้จู่ๆ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา จะต้องมีที่มาที่ไป พี่มักจะเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่านักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์จะไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาอยู่แต่ในบริเวณที่คนไข้มาบอกเรา แต่เราจะต้องซักประวัติ ดูการดำเนินชีวิต ว่าตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนกระทั่งเข้านอน ว่าคนไข้ทำอะไร นั่งกี่ชั่วโมง ยืนกี่ชั่วโมง ทำกิจกรรมอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาได้บ้าง เราเองต้องวิเคราะห์ประวัติ เมื่อเราวิเคราะห์จากประวัติที่ได้สอดคล้องกับปัญหาเค้า เราก็จะเข้าใจ

และส่วนหนึ่งของปัญหาไม่ใช่เรื่องของกายอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของความคิด เรื่องของอารมณ์ เรื่องของความเชื่อของคนไข้แต่ละคน ซึ่งถ้าเราเข้าถึงความเชื่อของคนไข้ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ เราก็จะสามารถจัดการปัญหาในลักษณะที่ดูแลใจคนไข้ไปด้วย นอกจากนี้เราต้องดูแลความเชื่อของคนไข้ด้วย จากความจริงที่ว่าเราไม่สามารถจะไปปรับเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นศิลปะในการดูแลคนไข้ 

ดังนั้นทักษะสำคัญของนักกายภาพบำบัดที่พี่คิดก็คือต้องฟัง ฟังแล้วก็จะต้องเข้าใจ ต้องไม่ตีความไปเอง ต้องฟังข้อมูลที่แท้จริงจากคนไข้

นักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ หรือรุ่นไหนๆก็ตาม ทักษะที่สำคัญที่พี่คิดก็คือต้องฟัง ฟังแล้วก็จะต้องเข้าใจ ต้องไม่ตีความไปเอง


อาจารย์มีมุมมองว่านักกายภาพบำบัดในยุคปัจจุบัน ควรที่จะมีการพัฒนาตนเองในด้านใดบ้างคะ

เรื่องของการพัฒนาตนเองของนักกายภาพบำบัด เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตของเราในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นักกายภาพบำบัดที่จบมาอายุ 25 กับนักกายภาพบำบัดที่อายุ 35 อายุ 45 แนวคิดการพัฒนาตนเองก็ไม่เหมือนกัน สำหรับวัยอย่างพี่ก็คิดว่าจุดสำคัญเลยคือเรื่องของการพัฒนาสุขภาพตนเอง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าเราสามารถพัฒนาตนเองโดยใช้การออกกำลังกาย (Exercise) ซึ่งเป็นหัวใจของงานกายภาพบำบัด รู้จักการจัดการชีวิตในแต่ละวัน การจัดการอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันว่าต้องทำอย่างไร การนั่ง ยืน เดิน นอนอย่างไร ทำแล้วท่าทางนี้ทำให้เกิดความไม่สมมาตรหรือไม่ ต้องพัฒนาการรับรู้และดูตัวเองให้ออก หรือการที่เราใช้ท่าทางการออกกำลังกายทุกวันนี้เรามีความเสียสมดุลตรงไหนแล้ว หน้าท้องเราไม่แข็งแรงบ้างหรือเปล่า การหายใจของเราผิดไปจากปกติหรือไม่ หรือว่าเราหายใจถูกแล้วมันทำให้ร่างกายเราเปลี่ยนอย่างไร สิ่งต่างๆเหล่านี้ หากเราได้กระทำกับตัวเอง พัฒนาให้ตัวเราเองแข็งแรง เราก็จะเป็นแบบอย่างให้กับคนไข้ได้ ถ้าคนไข้เห็นเราแข็งแรง เห็นเราอารมณ์ดี เห็นเราจิตใจดีมีเมตตา คนไข้ก็จะมีความเชื่อมั่นว่าตัวผู้รักษายังดูแลตัวเองได้เลย คนไข้ก็จะยินดีที่จะฝากความหวังไว้กับตัวเรา

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องพัฒนาตนเองก่อนเลยคือการพัฒนาด้านร่างกายแล้วก็จิตใจ ในส่วนของทักษะเรื่องความรู้ เรารู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวนี้งานกายภาพบำบัดแบบที่ออกจากตำราแล้วทำเลยนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่เสมอไป จะต้องนำมาประยุกต์ให้เข้ากับปัญหา และปัญหาของคนไข้เดี๋ยวนี้ ถ้าเราเรียนให้กว้างขวาง เราจะเห็นว่ามีปัญหาในระดับของ Fluid level ร่างกายเรามีเรื่องของน้ำ การไหลเวียนน้ำเหลือง ปัญหาในระดับของพังผืด Myofascial linkage ปัญหาของข้อต่อ หรือปัญหาเรื่องการยึดตรึงของอวัยวะภายใน ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับร่างกายส่วนหนึ่งนั้นก่อให้เกิดปัญหาเชื่อมโยงมีความสอดคล้องกันหลายระดับในร่างกาย ถ้าเราสามารถที่จะเรียนรู้ให้ครอบคลุม เราก็จะสามารถเลือกเทคนิกที่ครอบคลุมดีในการดูแลคนไข้ได้ และอยากจะฝากไว้ว่าร่างกายของคนไข้ เราจะรักษาแยกส่วนไม่ได้

สรุปว่าเราควรเรียนรู้ชีวิตตนเองในทุกๆ ด้าน ด้านสุขภาพกาย ด้านสุขภาพใจ ด้านการกิน การออกกำลังกาย และแนวคิดต่าง ๆ ที่จะทำให้เราได้ประสบการณ์ในการดูแลตนเอง ซึ่งเราจะนำสิ่งนี้ไปวางแผนที่จะเรียนรู้ ไปฝึกอบรมเพิ่มเติม ไปทำให้ตนเองเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไข้ได้ ตรงนี้มีความสำคัญมาก

เราเรียนรู้ชีวิตตนเอง พัฒนาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ให้ได้ประสบการณ์ในการดูแลตนเอง เพื่อจะเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไข้ได้


สุดท้ายนี้ อาจารย์อยากจะฝากอะไรถึงพวกเรานักกายภาพบำบัดมั้ยคะ

สิ่งที่พี่อยากจะฝากก็คือ เวลาที่เราดูแลคนไข้ทางกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่เราจะมีการกระทำต่อร่างกายของคนไข้ทั้งการให้ท่าทางการออกกำลังกาย  การใช้ manual technique การใช้เครื่องมือ จึงอยากฝากให้เราคิดเสมอว่าเราเป็นผู้ให้ คำว่าเป็นผู้ให้นี่หมายความว่า เราให้ความเมตตา เราให้แนวทางที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัว ดังนั้นเวลาที่เราจะดูแลคนไข้ ขอให้ใจเราเป็นผู้ให้ และก็เป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะเข้าถึงใจของคนไข้ด้วย เรื่องของความเมตตา เรื่องของการเข้าใจปัญหา เรารู้ธรรมชาติของคนไข้ และให้การดูแลเค้าแบบญาติคนหนึ่ง อยากจะเน้นเรื่องของการดูแลแบบใช้ใจ ฟังร่างกายของคนไข้ ฟังสิ่งที่คนไข้บอกเราผ่านแรงต้าน ผ่านความตึง ผ่านความเจ็บปวด ผ่านสีหน้า อยากให้ดูประเด็นนี้ด้วยค่ะ

อีกหนึ่งสิ่งที่อยากฝากไว้คือการทำงานจะต้องมีอุดมการณ์ อุดมการณ์ของเราจะเป็นอื่นไกลไม่ได้เลย พระราชบิดาได้มอบปณิธานไว้ให้กับพวกเราว่าให้คิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง เราจะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดา

เราเองจะต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานที่เราจะต้องสร้างสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนสังคม เราไม่ได้เรียนกายภาพบำบัดมาเพื่อที่จะมาเป็นพ่อค้าวาณิชย์ เราเรียนมาเพื่อจะช่วยเหลือคนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องการสร้างสุขภาพ ไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรชีวิตตนเองถึงจะสมบูรณ์ ถึงจะแข็งแรง เราเป็นเสี้ยวหนึ่งของวงการสาธารณสุข แต่ก็เป็นเสี้ยวที่เราจะเปลี่ยนชีวิตได้ โดยใช้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การกิน การออกกำลังกาย เราใช้ธรรมชาติดูแลตัวเราเองอยู่ ถ้าเรามีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าเราจะอยู่ตำแหน่งไหน ไม่ว่าอยู่ในสถาบันการศึกษา อยู่ในคลินิกเอกชน อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ ถ้าเราตั้งใจว่าเราจะช่วยเหลือสังคม เราจะทำงานกายภาพบำบัดเพื่อประชาชนให้ได้ดีที่สุด ทุกบทบาทที่ทำอยู่ มันจะพุ่งไปที่ประชาชน พี่เองเป็นอาจารย์ พี่มีเป้าหมายอยู่สองเรื่อง เพราะพี่เป็นทั้งอาจารย์และเป็นนักกายภาพบำบัด เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญของพี่คือ ความสุขของนักศึกษา และก็ความสุขของผู้ป่วย ตรงนี้ทำให้เรามีทิศทางการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน เราจะไม่เดินออกนอกลู่นอกทางเลย เพราะว่าเป้าหมายเราชัดเจนมาก คือสร้างความสุขให้กับคนไข้และคนรอบข้าง อันนี้คือสิ่งที่พี่อยากจะฝากไว้ค่ะ

เราเองจะต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานที่เราจะต้องสร้างสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนสังคม เราไม่ได้เรียนกายภาพบำบัดมาเพื่อที่จะเป็นพ่อค้าวาณิชย์ เราเรียนมาเพื่อที่จะช่วยเหลือคนที่ไม่รู้


จากการพูดคุยกับ รศ.โสภา พิชัยยงค์วงศ์ดี กับมุมมองของงานกายภาพบำบัด ในยุค 2020 นั้น จะพบว่าถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่งานกายภาพบำบัดไม่เปลี่ยนแปลงไปคือการที่งานกายภาพบำบัดยังได้ช่วยเหลือผู้คนในทุกช่วงวัยนั่นเอง


KanyaTheArticle ต้องขอขอบพระคุณ รศ.โสภา พิชัยยงค์วงศ์ดี ที่เสียสละเวลามานั่งพูดคุยกันในครั้งนี้ด้วย


#KanyaTheArticle

#PhysioTalk


Credit

Interviewer by กภ.พิชญาดา สุวรรณดี

Photo by กภ.กิตตินัฐ นวลใย

และ Content Team