Work Life Balance กับชีวิตที่ไม่มีคัทออฟ

Work Life Balance กับชีวิตที่ไม่มีคัทออฟ

เรื่องราวของกายภาพบำบัดสาวกับเส้นทางการวิ่ง จากจุดเริ่มต้น ไปสู่การวิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไปกับ มิ้ว กภ.นันทิกาญจน์ กีรติขจรฟ้า

กภ.นินทิกาญจน์ กีรติขจรฟ้า หรือ Physio มิลค์ หนึ่งในนักกายภาพบำบัดที่ทำงานทางด้านกายภาพบำบัดในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ กับบทบาทในชีวิตประจำวันที่ทำงานในการให้การดูแล รักษาและฟื้นฟูคนที่มีอาการบาดเจ็บ แต่อีกหนึ่บทบาทที่หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก คือการเป็น “นักวิ่ง” ที่คงต้องยอมรับว่า กายภาพบำบัดสาวคนนี้ สามารถทำบทบาทของการเป็นนักวิ่งได้เป็นอย่างดี วันนี้ KanyaTheArticle กับ Physio Talk เลยมาชวนพูดคุยกันกับเรื่องราวของนักกายภาพบำบัดสาวคนนี้กัน



เรามาเริ่มที่คำถามแรกกันเลยนะครับ จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่มิลค์เริ่มเข้าสู่วงการวิ่งคืออะไรครับ

                จุดเริ่มต้นการวิ่งของมิลค์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว มิลค์ได้เรียนเรื่องการวัด Vital sign เพื่อใช้ตรวจคนไข้ ตอนนั้นจำได้ว่าขณะฝึกตรวจวัดชีพจร น้องที่ฝึกคู่มิลค์บอกว่า “ชีพจรพี่มิลค์เดี๋ยวก็เต้นเร็ว เดี๋ยวก็เต้นช้า มีเงียบหายไปด้วย” เรา 2 คนก็เลยให้อาจารย์มาช่วยตรวจยืนยัน อาจารย์ยืนยันเหมือนกับน้องว่าชีพจรมิ้ลค์เต้นผิดปกติ มิลค์เองก็ตกใจนะ ช่วงนั้นมิลค์ เดิน ๆ วิ่ง ๆ บนลู่วิ่งในฟิตเนส คิดว่าออกกำลังกายอยู่แล้วก็แปลกใจที่ชีพจรเราผิดปกติ มิลค์จึงไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ไปถึงมิลค์ก็เล่าประวัติและอาการให้คุณหมอฟัง คุณหมอจึงให้มิลค์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) พบว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่คุณหมอแนะนำว่าควรออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้น วินาทีนั้นมิลค์ตัดสินใจหันไปบอกกับน้องที่มาด้วยกันว่า “พี่คงต้องเริ่มวิ่งแล้วแหละ” มิลค์ก็กลับมาซ้อมวิ่งบนลู่เรื่อย ๆ และตัดสินใจลงงานวิ่งครั้งแรก งานจัดที่หอประชุมกองทัพเรือ งานนั้นมิลค์ลงวิ่งระยะทาง 3 กิโลเมตร จำได้เลยว่าแค่กิโลเมตรแรกมิลค์ก็เหนื่อยมากแล้ว ตอนเข้าเส้นชัยมิลค์รู้สึกว่าเราก็ทำได้นี่นา มิลค์เลยตั้งใจกลับไปซ้อมวิ่งให้ดีขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้น และเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวมิลค์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มิลค์วิ่งมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ



แล้วการที่พี่มิลค์เป็นทั้งนักวิ่งและนักกายภาพบำบัดที่ต้องรักษาคนไข้ด้วย พี่มิลค์มีการแบ่งเวลาให้กับตัวเองอย่างไรครับ

เดิมช่วงที่ผ่านมาเราทำงาน 7 วัน ตั้งแต่ 7.00 ถึง 20.00 น. พอเราเริ่มมาวิ่งก็เลยต้องแบ่งเวลา เวลาที่ดีที่สุดสำหรับเราก็คือช่วงเช้า ทำให้เราต้องตื่นเช้าขึ้นมาหน่อย แบ่งเวลาออกกำลังกายประมาณครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง มิลค์เริ่มจัดเวลาว่า ตื่นตีสี่ครึ่ง วิ่งตีห้า - ถึงหกโมง แล้วรีบอาบน้ำแล้วมาทำงานตอน 7.30 น. ก็ทัน เพราะเราไม่ต้องเดินทาง เราก็เลยทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอมิลค์เริ่มตื่นเช้าทุกวันต่อเนื่อง ก็กลายเป็นว่าเราก็ง่วงเร็ว กลายเป็นต้องนอนเร็ว ประมาณ 3 ทุ่ม มิลค์ก็เริ่มง่วงแล้ว วงจรชีวิตขยับไปอีกแบบหนึ่ง จากที่เคยนอนดึก พอมาเริ่มตื่นเช้า เราก็จะต้องเข้านอนเร็วขึ้น  แรก ๆ ก็ต้องตั้งนาฬิกาปลุก แต่หลัง ๆ ไม่ต้องแล้วเพราะว่าร่างกายมันเคยชิน  

การแบ่งเวลาอออกกำลังกายแบบนี้ในตอนเช้าก็ไม่กระทบกับการทำงานนะ เมื่อเราวิ่งตอนเช้าเราก็จะมีสมาธิในการออกกำลังกาย เพราะจะไม่มีไลน์ ไม่มีงานเข้ามาในตอนที่เรากำลังวิ่ง พอถึงเวลาทำงานเราก็โฟกัสกับการทำงาน และเมื่อตกเย็นหลังเลิกงาน เราก็สามารถมีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน ไปกินข้าวกับเพื่อนได้ หรือสามารถเข้าประชุม เพราะว่าสิ่งที่เป็นเรื่องของเรา เราทำเสร็จไปตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว

มิลค์เองคิดว่าการแบ่งเวลานั้นสำคัญมาก ๆ เพราะหากคิดว่าต้องการนอนตื่นสายๆ แล้วค่อยมาวิ่งตอนเย็นแทนละกัน บางวันก็ติดประชุม ต้องไปเจอเพื่อน ไปมีตติ้ง อยากจะไปดูหนัง กลายเป็นว่าหากเรามาวิ่งก็จะละเลยด้านอื่น เราก็อยากจะมีสังคมและเราอยากจะมีชีวิตส่วนตัวของตัวเองด้วย



การที่พี่มิลค์เป็นนักวิ่ง อาการบาดเจ็บเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่มิลค์มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไรครับ

                การที่เราจะเริ่มออกกำลังกายหรือเริ่มวิ่ง เราต้องมีเป้าหมายก่อน หากเป้าหมายของเราคือเพื่อสุขภาพร่างกาย การเดิน การวิ่งจ๊อกๆ ประมาณ 30 - 45 นาทีก็พอแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าเราจะวิ่งมินิ ฮาร์ฟ หรือฟูลมาราธอน เราต้องมีการวางแผนว่าเราจะเริ่มไต่ระยะอย่างไรเพื่อไม่ให้บาดเจ็บ เนื่องจากการบาดเจ็บจากการ overuse ของกล้ามเนื้อ เมื่อไหร่ที่เราวิ่งระยะทางไกลขึ้น ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่จะบาดเจ็บ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องค่อย ๆ เก็บสะสมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เหมือนโกดังไกลโคเจนของเรา สะสมไปเรื่อยๆ พอถึงเวลามันจะมีเยอะขึ้น ทำให้เราวิ่งได้อย่างมีความสุขและการบาดเจ็บก็จะลดลง เป้าหมายตรงนั้นมันคืออะไร ถ้าเราจะวิ่ง 10 กิโลเมตรให้ได้ sub 50 เราก็ต้องฝึกความเร็ว ฝึก interval เยอะ ๆ ถ้าเราต้องการไปฟูลมาราธอนเราก็ต้องเก็บสะสมระยะทาง กี่กิโลในแต่ละสัปดาห์ให้ได้ ต้องมีฝึกวิ่ง long run ฝึกวิ่ง tempo และที่สำคัญคือฝึกหัวใจให้แข็งแรง weight training และ core body ต้องไม่ลืม เรื่องอาหารการกินก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน อาหารการกินเราก็ต้องให้ถึงเพื่อเข้าไปทดแทนพลังงานที่เราใช้งานไป เลือกกินสักหน่อย  ขนมมีบ้าง ก็ไม่ได้ขาด แต่ว่าอาหารหลักก็ไม่ให้ด้อยไปเลย

เพราะคำว่า มาราธอนคำเดียว มันไม่ใช่แค่วิ่ง มันคือการจัดการชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นนอน การฝึกซ้อม งานก็ต้องทำ อาหารการกินก็ต้องดูแล


เท่าที่ฟังมา นอกจากพี่มิลค์จะมีการซ้อมอย่างหนัก ร่วมกับการทำงานด้วย แน่นอนว่าเรื่องความสวยความงามก็ต้องดูแล พี่มิลค์มีวิธีการดูแลตัวเองเรื่องความสวยความงามยังไงบ้างครับ

โอ้ยย เรื่องความสวยงามหรอ? (หัวเราะ) จริง ๆ เราต้องเอาความรู้ของเรามาเป็นพื้นฐานก่อนเลย ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ฮอร์โมนต่าง ๆ การนอนให้ถึง การทานให้ถึง ควรมีช่วงเวลาการนอนที่เหมาะสมเพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่ง และนอกจากนี้คือเราต้องทานโปรตีนให้ถึงเพื่อเป็นวัตถุดิบให้โกรทฮอร์โมนใช้ในการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผิวหนังของเรา คอลลาเจนของเราทั้งหมด ก็เกิดจากการซ่อมแซมของโกรทฮอร์โมนและโปรตีนที่ส่งเข้าไป ฉะนั้นหากทานอาหารถึง แต่นอนไม่พอ หน้าตาเราก็จะดูเหี่ยว ดูแก่ได้ ช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 2 ก็เป็นช่วงเวลาที่เราควรนอนให้เต็มที่ อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงมิลค์ต้องนอนให้ถึงละ ถ้าได้ 7-8 ชั่วโมงคือกำไรของมิลค์แล้ว

                ส่วนเรื่องความสวยงามด้านอื่น เช่น รูปร่าง คือร่างกายเรามีการปรับไปตามการเคลื่อนไหว อย่างนักว่ายน้ำก็จะมีรูปร่างแบบหนึ่ง นักเต้นก็มีรูปร่างแบบหนึ่ง นักวิ่งเองก็จะมีรูปร่างแบบหนึ่งเช่นกัน อย่างผู้หญิงที่วิ่งก็จะมีรูปร่างตรง ๆ นิดนึง สิ่งสำคัญคือน้ำหนักตัวของนักวิ่ง คือไม่ให้หนักเกินไป เพราะว่าจะโหลดข้อต่อ มิลค์จะซีเรียสว่าน้ำหนักมาตรฐานของเราต้องไม่เกินเท่าไหร่ แค่นั้นเอง ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของบอดี้เวทเพื่อให้กล้ามเนื้อของเรามันเข้ารูปเข้าทรง

                ส่วนผิวหนัง ผิวหน้า สิ่งสำคัญเลยคือกันแดด มิลค์ไม่เคยที่จะลืมทาครีมกันแดดเลย วันที่ทำงานมิลค์ก็จะทาครีมกันแดดที่ทำงาน วันที่วิ่งก็ทาครีมกันแดด คือทาครีมกันแดดทุกวัน

จริง ๆ แอบมีแฟนคลับแอบถามมาครับพี่มิลค์ ถามว่าผู้หญิงมักคิดว่าการวิ่งทำให้ขาใหญ่ พี่มิลค์มีความเห็นว่ายังไงบ้างครับ

            จริง ๆ จะบอกว่า ก่อนเริ่มวิ่งนี่ขาใหญ่นะ แต่เมื่อวิ่งไปขามันกระชับขึ้น ความต้องการแบบที่ขาเรียวเป็นตะเกียบนั่นคือไม่มีกล้ามเนื้อ อันนี้พื้นฐานกายภาพร่างกายเรานะคะ ถ้าไม่มีกล้ามเนื้อไปวิ่งมันก็ไม่แข็งแรง ส่วนที่ใหญ่ขึ้นนั่นมาจากไขมัน พอเรามาวิ่ง ไขมันก็ถูกเบิร์นออกไป มันก็จะเหลือแต่ตัวกล้ามเนื้อที่กระชับ เรามองเราอาจจะดูใหญ่แต่พอจับไปแล้วมันมีแต่กล้ามเนื้อ ไม่ได้ย้วย ไม่ได้ย้อยอะไร เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วิ่งมา ขาไม่ได้ใหญ่ขึ้น สาว ๆ ไม่ต้องกลัวเลยว่าวิ่งแล้วจะขาใหญ่ เพราะขาจะกระชับเรียวขึ้น น่องจะเรียวขึ้นค่ะ


หลาย ๆ คนเริ่มอยากออกกำลังกาย แต่ก็ติดที่ว่าไม่มีเวลา ยังต้องทำงาน พี่มิลค์อยากจะเชิญชวนทุกคนให้เริ่มออกกำลังกายยังไงบ้างครับ

            ออกกำลังกายมันเหมือนการสะสมเงิน วันนึงเราทำงาน แล้วเราก็เก็บเงิน แล้วเราก็ไปจ่ายให้สถานพยาบาลตอนอายุมาก เพราะเราใช้ร่างกายจนทรุดโทรม ด้วยความที่มิลค์ทำงานด้านกายภาพบำบัด ทำงานด้านสุขภาพ ก็จะเห็นว่าหลาย ๆ เคส จะมีประวัติคล้าย ๆ กันคือทำงานเยอะและขาดการออกกำลังกาย แล้ววันนึงก็เริ่มมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเข่า หรือบางคนก็ทำงานหนักอย่างเดียวเลย ไม่พักผ่อน มิลค์ก็เลยคิดว่าเราเองเนี่ยแหล่ะที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไข้ โดยที่ว่าเราเองก็มีเวลาพอ ๆ กัน 24 ชั่วโมง เท่า ๆ กัน แต่เราจะจัดสรรเวลายังไงให้การทำงานของเราส่งเสริมสุขภาพเราไปด้วย เมื่อเราทำเป็นตัวอย่าง คนอื่นก็จะได้มีแรงจูงใจในการคิดหาวิธีให้ตัวเอง ก็เลยออกมาดูแลตัวเอง สะสมความแข็งแรง สะสมกล้ามเนื้อ มันไม่ใช่เรื่องง่าย และมีเพียงวิธีการเดียวที่จะช่วยได้ก็คือการออกกำลังกาย ต้องออกแรงด้วยตัวเองมันถึงจะได้  ถ้าเราสะสมไว้ดี เมื่ออายุเยอะขึ้นก็ลดความเสี่ยงที่จะเจ็บไข้ได้ป่วย

                สุขภาพเป็นสิ่งที่สร้างได้ และต้องสร้างตั้งแต่วันนี้ด้วย จะมารอวันที่คุณพร้อม บางทีร่างกายคุณอาจจะไม่พร้อมแล้วก็ได้ ตอนนี้คุณมีแรงออกไปวิ่ง ไปฟิตเนสได้ คุณต้องทำ ยิ่งได้ออกกำลังกาย ร่างกายก็ยิ่งแข็งแรง วันนี้ทำได้ ลุกขึ้นมาทำ



มาถึงคำถามข้อสุดท้ายกันนะครับผม พี่มิลค์วางแผนไว้ว่าตัวเองจะวิ่งไปถึงไหน จุดสิ้นสุดการวิ่งของพี่มิลค์ มีการวางเป้าหมายไว้มั้ย หรือเรายังสนุกกับการวิ่งไปเรื่อยๆอยู่ครับ

             การวิ่งของมิลค์ก็คงวิ่งไปตลอดชีวิตนะ แต่ในช่วงชีวิตตอนนี้ ทุก ๆ ปี จะมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาให้เรารู้จักเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งมินิ, ฮาล์ฟ, ฟูล, อัลตร้า, เทรล ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอยากจะลอง อยากจะเรียนรู้ จากวิ่งถนน เราเริ่มเบื่อถนน ก็อยากจะเข้าป่า แล้วพอเข้าป่า เราก็อยากเข้าป่าลึกขึ้นเรื่อย ๆ (หัวเราะ) เป้าหมายของมิลค์ตอนนี้คือ จบอัลตร้าเทรล 100 ถ้าจบแล้วมิลค์อาจจะมีแพชชั่นในชีวิตอย่างอื่น แต่ละปีเราก็ตั้งเป้าไป ปีหน้าอาจจะเป็นแพชชั่นเรื่องครอบครัว เราก็คงจะโฟกัสเรื่องครอบครัว แต่เรื่องสุขภาพเราก็ยังต้องแบ่งเวลาให้อยู่ เราค่อยปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม มิลค์ไม่มีทางทิ้งการออกกำลังกาย มิลค์มองว่า work life balance ของมิลค์ยังคงดำเนินต่อไป การวิ่งอาจจะยังอยู่ในตลอดช่วงชีวิตของมิลค์ แต่อาจจะมีเพิ่มบ้าง ลดบ้าง ออกกำลังกายอย่างอื่นบ้าง ว่ายน้ำบ้าง ปั่นจักรยานบ้าง ก็ถือเป็นกำไรชีวิตค่ะ


 “มาราธอนคำเดียว มันไม่ใช่แค่การวิ่ง มันคือการจัดการชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่การตื่นนอน การฝึกซ้อม อาหารการกิน การทำงาน การบริหารเวลาของเรา” 

เรื่องราวของนักกายภาพบำบัดสาวคนนี้คงจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้หลายๆคน เริ่มหันมาดูแลสุขภาพร่างกายตัวเราเองมากขึ้น "สุขภาพเป็นสิ่งที่สร้างได้ และเริ่มสร้างกันตั้งแต่วันนี้"


KanyaTheArticle ต้องขอขอบพระคุณ กภ.นันทิกาญจน์ กีรติขจรฟ้า ที่เสียสละเวลามานั่งพูดคุยกันในครั้งนี้ด้วย

#KanyaTheArticle
#PhysioTalk

Credit
Interviewer by กภ.กฤตภาส ถวัลยวิชชจิต และ กภ.พิชญาดา สุวรรณดี
Photo and Art by กภ.กิตตินัฐ นวลใย