กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) ภาวะที่อาจเกิดได้ เมื่อมีอาการ ปวดหลังร้าวลงขา



กระดูกสันหลังเคลื่อนคืออะไร ?
อาการเป็นแบบไหน ?
สาเหตุเกิดจากอะไร ?
แล้วต้องป้องกันหรือรักษาอย่างไร ?

วันนี้พวกเราชาวกันยา จะพาทุกท่านมารู้จักกับภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ภาวะที่ทำให้หลายๆคนต้องประสบกับอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดหลังร้าวลงขา ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ ก็ยิ่งปวด เพื่อให้เราได้รู้เท่าทันกับภาวะเหล่านี้และสามารถดูเเลตนเองเบื้องต้นได้ 

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน คือภาวะที่กระดูกสันหลังมีความไม่มั่นคง และเคลื่อนที่ออกจากแนวแกนกลาง เกิดได้ทั้งแบบการเคลื่อนไปด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง โดยส่วนมากจะพบการเคลื่อนไปด้านหน้าของกระดูกสันหลังส่วนล่าง การเคลื่อนของกระดูกสันหลังนี้จะเรียกว่า Spondylolisthesis (สะ-ปอน-ได-โล-ลิส-ธี-สิส)




สาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

การเกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น อายุที่มากขึ้น ทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังไม่มั่นคง เมื่อเคลื่อนไหวหรือออกแรงที่ลำตัวมากๆก็ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้

ในบุคคลทั่วไปที่ ประสบอุบัติเหตุ เช่น การล้มก้นกระแทก หรือการทำกิจกรรมที่มีการก้มหรือแอ่นหลังมากกว่าปกติซ้ำๆ ก็สามารถทำลายความมั่นคงทีละนิดๆ ของข้อต่อจนทำให้เกิดการเคลื่อนของกระดูกสันหลังได้

รวมไปถึง ท่าทางในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน หรือการนั่ง ถ้าหากอยู่ในลักษณะที่หลังส่วนล่างมีการแอ่นที่มากไป ก็จะส่งเสริมให้มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังไปข้างหน้าได้มากขึ้นไปอีกด้วย


อาการของกระดูกสันหลังเคลื่อน
ในผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนไปข้างหน้า บางราย อาจไม่มีอาการใดๆเลยก็ได้ เนื่องจากการเคลื่อนของกระดูกสันหลังนั้นเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือว่าร่างกายของเรามีการปรับตัว เช่น การเอียงตัว ค่อมหลัง แอ่นหลัง เพื่อให้กระดูกที่เคลื่อนไปนั้นไม่กระทบหรือเบียดโครงสร้างในร่างกาย และไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเอ็นข้อต่อ เส้นประสาท หรือกล้ามเนื้อรอบๆ

กรณีที่มีอาการแสดงจะพบว่ามีอาการดังนี้

1) อาการปวด โดยอาการปวดจะมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจากการที่กระดูกสันหลังเคลื่อน ทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆถูกยืดออกจนทำให้มีการบาดเจ็บ ส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณหลัง รวมไปถึงเมื่อกระดูกเคลื่อนไปอาจรบกวนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะทำให้มีอาการปวดบริเวณก้น ต้นขา น่อง หรือ เท้า ร่วมด้วยได้

2) อาการชา อาการนี้เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทส่วนการรับความรู้สึก ทำให้เกิดได้ทั้งอาการชาคล้ายเป็นเหน็บ หรืออาการชาแบบหนา ๆ โดยบริเวณที่มีอาการชา คือ บริเวณที่เส้นประสาทนั้นลงไปเลี้ยง สามารถเป็นได้ทั้งแกนกลางลำตัวและรยางค์ต่างๆ

3) อาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อ อาการนี้เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทเช่นเดียวกัน แต่เป็นส่วนของการสั่งการกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่มีแรง เคลื่อนไหวขาได้น้อยลง

4) อาการข้อติดแข็ง มักเกิดตามมาทีหลัง ในระยะยาว ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวด มักเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือขยับบริเวณข้อต่อที่มีอาการ ทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังบริเวณนั้นถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ส่งผลให้ข้อต่อนั้นยึดติด และเกิดเป็นภาวะหลังแข็ง

ซึ่งอาการที่กล่าวมานั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกข้อก็ได้เนื่องจากในบางท่านอาจจะเป็นมาก น้อย แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการใดอาการหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจประเมินให้ แน่ใจและรักษาได้ทันท่วงที 



การตรวจเเละรักษากระดูกสันหลังเคลื่อน

อาการนี้ควรได้รับการตรวจประเมินร่างกายโดยแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด และการตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี (X-ray) จะเป็นการตรวจที่สามารถยืนยันภาวะนี้ได้และแม่นยำ ซึ่งสามารถทำให้ทราบได้ว่าระยะการเคลื่อนของกระดูกสันหลังมีมากน้อยแค่ไหน อันตรายหรือไม่ ท่าทางใดหรือกิจกรรมใดที่ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าหากสงสัยว่ามีการกดทับของเส้นประสาทร่วมด้วย ก็สามารถยืนยันด้วยผลการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ในส่วนของการดูแลรักษา ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนไปข้างหน้านั้น โดยส่วนมากจะเน้นไปที่การลดอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด อาการชา ด้วยการลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ลดการกดทับของเส้นประสาท ลดการยึดติดของข้อต่อ หรือลดการทำงานที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อบางมัดบริเวณนั้นๆ    

ในทางกายภาพบำบัดจะมีทั้งการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ความเย็น/ร้อน การขยับข้อต่อ การนวด และอื่นๆ โดยการฟื้นฟูที่สำคัญคือการเพิ่มความมั่นคงให้ข้อต่อกระดูกสันหลังที่มีภาวะการเคลื่อน การป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยการออกกำลังกายด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อฟื้นฟูเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และส่งเสริมให้เกิดความสมดุลของกล้ามเนื้อ 



สำหรับกล้ามเนื้อที่เป็น กุญแจสำคัญ คือ กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core Muscles) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดลึกที่จะช่วยให้กระดูกสันหลังแต่ละข้อต่อมีความมั่นคง รวมไปถึงกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ต้องทำงานควบคู่กันให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะของกระดูกสันหลังเคลื่อนหายจากอาการต่างๆ และยังสามารถที่จะกลับไปทำกิจกรรมหรือกิจวัตรต่างๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หากท่านสงสัยว่ามีปัญหานี้หรือไม่ ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจร่างกาย ค้นหาสาเหตุของปัญหา เเละรับคำแนะนำให้การดูแลตนเอง ท่าออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละบุคคล


ต้องการติดต่อสอบถาม คลิก

โทรศัพท์ติดต่อ :
สาขาสิรินธร  02-434-4111
สาขาเหม่งจ๋าย 
 02-274-4471
สาขาอุดมสุข 
 02-175-4944
ซีเนียร์กันยาโฮมแคร์  080-576-3334
สาขาประชาชื่น  02-591-5915
สาขาพญาไท  080-575-1108
สาขาเจริญราษฎร์  02-288-0110
สาขาเพชรเกษม  080-581-6222
สาขามีนบุรี  095-045-2496
สาขานครอินทร์  080-596-5875

Line Official : @Kanyaptclinic