ปวดร้าววิ่งไปหมดเลยนะ MPS

ปวดร้าววิ่งไปหมดเลยนะ MPS

 

โอ๊ย!!! ปวดสะโพกร้าวลงขาจังเลย ปวดคอบ่าร้าวขึ้นหัว ขึ้นตา เป็นอะไรเนี่ย... ใครเคยมีอาการแบบนี้รึป่าวครับ รู้หรือไม่ครับว่าจริงๆแล้วอาการแบบนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมักเกิดจากกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด myofascial pain syndrome หรือ MPS และยังทำให้เกิดปัญหาการปวดเรื้อรังที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วยครับดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันครับ  

 

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดมีอาการดังนี้ 

1.มีอาการปวด มักจะมีอาการปวดร้าวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเช่น กล้ามเนื้อบริเวณสะบักจะทำให้ปวดหัวไหล่ แขน และข้อมือได้ หรือ กล้ามเนื้อบ่าทำให้ปวดร้าวไปที่ศีรษะและขมับได้ บางครั้งจะรู้สึกปวดตึงรั้ง ปวดตื้อๆ ตุ๊บๆ ปวดแสบปวดร้อน ปวดแปล๊บๆ หรือปวดหน่วงๆก็ได้เช่นกัน 

 

2. มีอาการของประสาทอัตโนมัติ(autonomic Phenomena) เช่น บริเวณที่ปวดมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว หรือบางครั้งอาจจะพบว่ามีอาการซีด เย็น ของแขนและมือ โดยสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก บางคนอาจมีเหงื่อออก น้ำตาไหล ขนลุก เป็นต้น 

 

3.พบจุดกดเจ็บ(TRIGGER POINT) กล้ามเนื้อที่เป็น MPS จะพบว่ามีความตึงตัวมากขึ้นสามารถคลำได้เป็นแผ่นกล้ามเนื้อ (taut band) ซึ่งในแผ่นกล้ามเนื้อจะมีก้อนของกล้ามเนื้อที่กระจุกตัวรวมกัน (trigger point) เมื่อกดจะมีอาการปวดและร้าวไปตามบริเวณต่างๆ (Referred pain), มีอาการสะดุ้งจากอาการปวด (Jump sign) และมีกระตุกของใยกล้ามเนื้อ (Local twitching response) 

 

ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด myofascial pain syndrome ส่วนใหญ่แล้วเชื่อกันว่าเกิดจากภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่หนักเกินไป ซึ่งมีได้มากมายหลายปัจจัย เช่น เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่รุนแรงจากอุบัติเหตุ, การผ่าตัด, ความเครียดทางจิตใจ, การบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย, การจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ดี, ภาวะกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน และบ่อยครั้งปัจจัยเหล่านี้มักจะเกิดร่วมกัน 

 

การดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นเมื่อพบว่าเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด สามารถทำได้โดย 

1. หากมีอาการปวดมาก แนะนำให้ประคบเย็น โดยอาจจะใช้แผ่นประคบเย็นหรือน้ำแข็ง เย็นพอทนได้ ประมาณ 15นาทีต่อรอบ 3-4รอบต่อวัน เพื่อลดอาการปวด แต่ถ้ามีแค่อาการปวดตึงอาจใช้การประคบร้อน ประมาณ 20 นาทีต่อรอบ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ 

2. ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) การยืดกล้ามเนื้อจะทำให้ trigger point เกิดการคลายตัว อาการปวดต่างๆก็จะลดลง โดยยืดค้างไว้ 10 วินาที 10 ครั้งต่อรอบ 

3. ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ (strengthening and endurance exercise) เพื่อลดอาการล้าของกล้ามเนื้อและปรับสมดุลกล้ามเนื้อให้ดีมากยิ่งขึ้น 

4. นวดกดจุด ทำได้โดยกดจุดบริเวณ trigger point โดยอาจจะใช้นิ้ว หรือ อุปกรณ์ช่วยเช่น ไม้กดจุด, Massage ball, Foam roller, ลูกเทนนิส เป็นต้น โดยกดค้างไว้ 30 วินาที ประมาณ 2-3 ครั้ง สังเกตว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลายขึ้นหรือไม่ แต่มีข้อควรระวังคือในกรณีที่มีอาการปวดมากไม่ควรกด เพราะอาจทำให้อักเสบและปวดมากกว่าเดิมได้     

5. ปรับท่าทางการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ทำงาน พักผ่อน ทำจิตใจให้สบาย ฝึกการหายใจให้ถูกต้อง  

 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากวันนี้ไม่มากก็น้อย หากมีข้อสงสัย หรือมีอาการดังกล่าว ดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษากับนักกายภาพบำบัดต่อไปครับ 

 

เอกสารอ้างอิง 

- วิมล ศรีวิชา. การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด(Myofascial Pain Syndrome).  วารสารหัวหินสุขใจไกลกังวล,2559;1:10-28 

- ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช. Myofascial Pain Syndrome : A Common Problem in Clinical Practice.,2542 



บทความโดย..

กภ.กิตติพงษ์ สวัสดิ์ประทานชัย (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาเหม่งจ๋าย

ภาพประกอบโดย..

กภ.ศุภกานต์ จุลละจินดา (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)

นักกายภาพบำบัด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาสิรินธร