"เวียนหัว บ้านหมุน จากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน กายภาพบำบัดช่วยคุณได้"
"เวียนหัว บ้านหมุน จากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน กายภาพบำบัดช่วยคุณได้"
เคยไหม? กับอาการ เวียนหัว บ้านหมุน คุณอาจกำลังมีปัญหาจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo : BPPV) ก็เป็นได้ โดยเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ในกลุ่มอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
วันนี้จึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคนี้ รวมถึงเเนวทางการรักษาทางกายภาพบำบัดที่จะช่วยให้คุณดีขึ้นจากอาการเวียนหัวบ้านหมุนนี้ได้
เกิดได้อย่างไร?
โดยปกติในหูชั้นในของเราจะมีตะกอนหินปูนเล็กๆอยู่ด้านในซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยในเรื่องของการทรงตัว โดยโรคนี้เกิดจากตะกอนหินปูนเคลื่อนจากตำแหน่งปกติที่มันอยู่ ไปรบกวนการส่งสัญญาณประสาทในหูชั้นใน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นได้ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- มีประวัติศีรษะกระแทก
- มีประวัติหูชั้นในอักเสบ
- ต้องนอนเตียงเป็นระยะเวลานาน เช่น ผ่าตัด/ป่วย
อาการ เป็นอย่างไร?
โรคนี้มีโอกาสเกิดได้กับทุกคนและทุกวัย แต่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุที่มีช่วงอายุ 50-70 ปี โดยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกัน ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ
- มีอาการเวียนศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง เห็นภาพสิ่งแวดล้อมหมุน
- ไม่สามารถรักษาสมดุลการทรงตัวได้
- อาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
โดยทั่วไประยะเวลาที่เวียนศีรษะจะคงค้างไม่เกิน 1 นาที และมักมีอาการขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะเช่น นอนพลิกตะแคงตัว ก้มใส่รองเท้า หรือเงยหน้าหาของบนที่สูง
การรักษา
ปัจจุบันการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้เทคนิค Canalith repositioning procedures (CPRs) เป็นเทคนิคที่ใช้การเคลื่อน/ขยับศีรษะในท่าที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ตะกอนหินปูนในหูชั้นในที่อยู่ผิดที่ เคลื่อนกลับเข้าที่เดิม สามารถทำได้โดยแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด
ผู้ที่เคยมีอาการจากตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน เมื่อหายดีแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งแนะนำปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อได้รับคำแนะนำถึงวิธีการรักษา และปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
บทความโดย..
กภ. วัชรินทร์ ศรีศักดาราษฎร์ (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาประชาชื่น
ภาพประกอบโดย..
กภ. สุธีรา อนงค์ถวิล (คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม)
นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาขาอุดมสุข
References :
1) Bhattacharyya, N., Gubbels, S. P., Schwartz, S. R., Edlow, J. A., El-Kashlan, H., Fife, T., Holmberg, J. M., … and Roberts, R. (2017). Clinical Practice Guideline: Benign Paroxysmal Positional Vertigo (Update). Otolaryngology–Head and Neck Surgery, 156(3_suppl), S1-S47. https://doi.org/10.1177/0194599816689667
2) Palmeri, R., & Kumar, A. (December 26, 2022). Benign Paroxysmal Positional Vertigo. Grand Strand Regional Medical Center; Great Plains Health.