โรคพาร์กินสัน(Parkinson’s Disease)
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลให้สารโดปามีนในสมองลดลง ซึ่งสารนี้มีความสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและปัจจัยอื่นๆที่มีผลร่วมกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
1. อายุที่มากขึ้น โดยมักพบในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป
2. เกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
3. ผู้ที่เคยมีประวัติศีรษะกระทบกระเทือน สมองบาดเจ็บทำให้หมดสติ
4. ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือ โลหะหนักในโรงงานอุตสาหกรรม
5. ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท เนื่องจากไปกดการทำงานของสมอง
อาการแสดง
1. Resting tremor : สั่นขณะอยู่เฉย
ลักษณะสำคัญของอาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสันคือ ช้าและเป็นจังหวะ โดยมักจะเริ่มที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า หรือขา และจะส่งผลต่อร่างกายทั้งสองข้างในที่สุด ซึ่งอาการสั่นนี้ก็สามารถเกิดที่กราม คาง ปาก หรือลิ้นได้อีกด้วย
มักจะเกิดในขณะผู้ป่วยหยุดพัก ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว แต่เมื่อใช้มือนั้นหยิบของ อาการสั่นนั้นจะลดน้อยลง หรือหายไป
2. Rigidity : อาการแข็งเกร็ง
ความตึงและติดแข็งของลำตัว แขน หรือขา ส่งผลให้เคลื่อนไหวลำบาก ซึ่งอาการนี้อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคข้อเสื่อมหรือปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในระยะแรกของโรคพาร์กินสัน
3. Bradykinesia : อาการเคลื่อนไหวช้า
เป็นอาการที่พบบ่อยและเกี่ยวข้องกับความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะใช้ระยะเวลานานในการเริ่มการเคลื่อนไหว มักจะเริ่มเกิดในด้านเดียวกับด้านที่มีอาการสั่น ซึ่งอาการเคลื่อนไหวช้าในผู้ป่วยพาร์กินสันจะแสดงให้เห็นในรูปแบบของ
- การแสดงออกทางสีหน้าที่ลดลง คล้ายกับการใส่หน้ากาก
- กระพริบตาน้อยลง
- ปัญหาการทำงานประสานสัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ผู้ป่วยจะติดกระดุมเสื้อลำบาก
- พลิกตะแคงตัวบนเตียงลำบาก
- เขียนหนังสือช้า และตัวหนังสือเล็กลง
4. Postural instability : การทรงตัวขาดความสมดุล
ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการทรงตัวลดลง การลุกยืนจากท่านั่งลำบาก ไม่สามารถยืนและเดินได้อย่างมั่นคง
5. Gait : ลักษณะการเดิน
ลักษณะการเดินของผู้ป่วยพาร์กินสันคือ เริ่มต้นจะสังเกตเห็นการแกว่งแขนที่น้อยลง อาจพบ 1 หรือทั้ง 2 ข้าง อาการตัวแข็ง ต่อมาจะเดินช้าและก้าวเท้าสั้นลง ซอยเท้าถี่ ลำตัวโน้มไปข้างหน้า มักจะมีปัญหาการออกก้าวเดิน หมุนตัว และหยุดเดินได้ลำบาก ผู้ป่วยที่มีอาการมากอาจพบว่ามีอาการก้าวเท้าไม่ออก ซึ่งเสี่ยงต่อการล้มมากขึ้น
6. Writing : Very small and shaking writing (Micrographia)
ผู้ป่วยจะเขียนช้าและตัวหนังสือเล็กลงเรื่อยๆในบรรทัดเดียวกัน บางรายมีอาการมือสั่นเกือบตลอดเวลาจนไม่สามารถลากเส้นตรงได้ต่อเนื่อง เป็นผลให้ความสามารถในการสื่อสารด้านการเขียนลดลง เช่น การวาดภาพ และบางรายไม่สามารถเขียนลายเซ็นเอกสารได้
7. Cognitive : กระบวนการคิดและความเข้าใจ
ผู้ป่วยจะมีความสามารถในกระบวนการคิด การคิดคำพูด และตัดสินใจลดลง ทำให้ยากที่จะทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะหนึ่งแล้วอาจจะพบอาการซึมเศร้าหรือสมองเสื่อมร่วมด้วย รวมถึงมีอาการสับสนที่เกิดจากการทานยาพาร์กินสันไประยะหนึ่ง
8. ปัญหาอื่นๆ ที่มักพบได้อีก เช่น นอนไม่หลับ การล้ากล้ามเนื้อ เสียงพูดเบาลง กลืนลำบาก เป็นต้น
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่การวินิจฉัยโรคและเข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแบ่งการรักษาเป็น 2 กลุ่มคือ การรักษาทางยา และการรักษาด้วยการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ
1. การรักษาทางยา (Drugs treatment) มี 3 กลุ่ม คือ
- ยาเพิ่มระดับสารโดปามีนในสมอง เพื่อลดอาการสั่นและควบคุมการเคลื่อนไหวไห้ดีขึ้น
- ยาปรับระดับสารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น ยาลดการทำลายของสารโดปามีน
- ยาช่วยควบคุมอาการอื่นนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น ยานอนหลับ ยาลดอาการซึมเศร้า ยาลดเกร็ง
2. การรักษาด้วยการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีความตึงและเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายและการขยับข้อต่อมีความลำบาก ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เคลื่อนไหวร่างกายได้ง่าย และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีโครงสร้างของร่างกายที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ เข่าและสะโพกเหยียดไม่สุด ติดอยู่ในท่างอ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อร่างกาย การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงจะช่วยปรับสมดุลของกล้ามเนื้อร่างกาย ทำให้โครงสร้างของร่างกายดีขึ้น และสามารถลุกขึ้นยืน เดินได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกายในผู้ป่วยพาร์กินสัน อาจจะออกกำลังกายโดยการเดิน ว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลทำให้ระบบการทำงานของหัวใจ ปอด และการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่เหนื่อยง่าย และยังสามารถช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์สมองได้อีกด้วย
- การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกาย
การทรงตัวขาดความสมดุลเป็นปัญหาที่มักพบบ่อยในผู้ป่วยพาร์กินสัน ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันยากลำบาก เช่น การลุกขึ้นยืน การยืน และการเดิน เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงในการทำกิจกรรมต่างๆของผู้ป่วย การฝึกแกว่งแขน การฝึกก้าวขายาวในผู้ป่วยพาร์กินสันจะช่วยให้ผู้ป่วยเดินได้ง่ายและคล่องขึ้น อีกทั้งยังลดปัจจัยเสี่ยงต่อการล้มของผู้ป่วยได้อีกด้วย
- การฝึกออกเสียง และการฝึกกลืน
จะพบว่าผู้ป่วยพาร์กินสันมักจะพูดและกลืนได้ลำบาก การฝึกออกเสียง การพูดช้าๆชัดๆและออกเสียงให้ดัง การฝึกให้ผู้ป่วยออกเสียงโดยการร้องเพลง หรือชวนพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยตอบโต้กับผู้อื่นจึงมีความสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการออกเสียง และการกลืนลำบากได้
- การฝึกหายใจ
เนื่องจากภาวะตึงของกล้ามเนื้อและการแข็งเกร็งของแนวแกนกลางลำตัว ผู้ป่วยพาร์กินสันจึงมักจะหายใจได้สั้นและถี่ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยได้ง่าย การฝึกการหายใจโดยให้มีการขยายของซี่โครงในระดับต่างๆ และฝึกให้ผู้ป่วยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมในการหายใจจะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
- การกระตุ้นกระบวนการคิดและความจำ
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคิดและความจำลดลง จึงควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นการฝึกสมองและทำให้ผู้ป่วยตื่นตัวตลอดเวลา พยายามหากิจกรรมทำเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น ฝึกบวกลบเลข เล่นเกมส์ทายคำศัพท์ ฝึกอ่านหนังสือ และฝึกเขียนหนังสือ เป็นต้น
- ปัจจัยทางด้านครอบครัว
ผู้ที่มีความสำคัญที่สุดต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้นั่นก็คือ ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ทั้งด้านสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ทางด้านร่างกายผู้ใกล้ชิดควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันเท่าที่ทำได้และปลอดภัย ปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆภายในบ้านของผู้ป่วย แนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม ด้านจิตใจควรทำความเข้าใจการดำเนินไปของโรคพาร์กินสันและหมั่นดูแลสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัวอยู่เสมอ เพียงสังเกต รู้ให้เร็ว และรับการรักษาอย่างตรงจุดโดยผู้เชี่ยวชาญ เพียงเท่านี้โรคพาร์กินสันจะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป