บริการ "กันยาคลินิกกายภาพบำบัด"

สาขาสิรินธร สาขาเหม่งจ๋าย สาขาอุดมสุข สาขาซีเนียร์กันยา สาขาประชาชื่น สาขาพญาไท สาขาเจริญราษฎร์ สาขาเพชรเกษม สาขานครอินทร์ สาขามีนบุรี
กายภาพบำบัดทางระบบประสาท

การบาดเจ็บไขสันหลัง (Spinal cord injury)

ไขสันหลัง เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่ต่อมาจากสมอง เชื่อมต่อจากก้านสมอง ผ่านฐานกะโหลกลงมาในโพรงของกระดูกสันหลัง ไปสิ้นสุดที่กระดูกสันหลังส่วนเอวระดับที่ 1-2 ไขสันหลังมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก มีเส้นประสาทไปเลี้ยงแขนและขา ซึ่งไขสันหลังนั้นเป็นทางผ่านของกระแสประสาทนำขึ้นสู่สมอง และนำคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะเป้าหมาย เช่น กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน เป็นต้น ดังนั้นหากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ  หน้าที่ต่างๆก็จะบกพร่องหรือสูญเสียการทำงานไป

การบาดเจ็บของไขสันหลังอาจเกิดร่วมกับการถูกทำลายของกระดูกสันหลังและหลอดเลือด  เกิดจากการมีแรงมากระทำต่อกระดูกสันหลังอย่างรุนแรง ทำให้กระดูกสันหลังเกิดความเสียหาย เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บไปด้วย

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน การตกจากที่สูง การล้มศีรษะหรือก้นกระแทกพื้น รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ

ความรุนแรงของการบาดเจ็บไขสันหลัง

1) บาดเจ็บไขสันหลังชนิดสมบูรณ์ หมายถึง ระดับที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บมีความรุนแรงมาก ไขสันหลังระดับนั้นจึงเสียหายทั้งหมด สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อและความรู้สึกในส่วนที่ต่ำกว่าพยาธิสภาพ ควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดรอบทวารหนักไม่ได้ เกิดการอัมพาตอย่างถาวร

2) บาดเจ็บไขสันหลังชนิดไม่สมบูรณ์ หมายถึง ระดับที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บมีความเสียหายบางส่วน ร่างกายส่วนที่ต่ำกว่าพยาธิสภาพนั้น มีระบบประสาทบางส่วนยังคงทำงานได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อหรือการรับความรู้สึก สามารถควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดรอบทวารหนักได้

อาการและอาการแสดง

มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา ความรู้สึกลดลงหรือหายไป โดยจะสูญเสียการทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่ควบคุมได้ การรับความรู้สึกเกี่ยวกับความปวด แรงกด อุณหภูมิ รวมถึงการขับถ่ายอีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้

แผลกดทับ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ข้อต่อยึดติด กระดูกพรุน ภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่า ปอดแฟบ ท้องอืด ท้องผูก กลั้นอุจจาระไม่อยู่ หลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายผิดปกติ

การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่บาดเจ็บไขสันหลัง

     1. ฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการรับความรู้สึกกลับมาให้มากที่สุด

     2. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

     3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี